การรักษาฟัน


     รากฟันของคนเราแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นแรกจะเป็นชั้นเคลือบฟัน (Enamel) อยู่ชั้นนอกสุด มีลักษณะแข็ง เป็นเงา ถ้าฟันชั้นนี้ผุมักจะไม่มีอาการใดๆ ถ้าแปรงฟันให้สะอาดด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์จะสามารถหยุดยั้งรอยผุไว้ที่ชั้นนี้ได้ ชั้นที่สอง คือชั้นเนื้อฟัน (Dentin) จะนิ่มกว่าชั้นเคลือบฟันและไวต่ออุณหภูมิและการสัมผัส อาการที่อาจบ่งบอกถึงการผุของฟันในชั้นนี้คือจะเสียวฟันเมื่อรับประทานของหวาน ของเย็น หรือเมื่อแปรงฟัน การอุดฟันสามารถอุดเติมส่วนที่ผุในชั้นนี้ได้ ชั้นที่สาม ชั้นโพรงประสาทฟัน (Dental Pulp) อยู่ด้านในสุด มีลักษณะเป็นช่องว่างที่มีเส้นเลือดเส้นประสาทมาเลี้ยงฟัน หากฟันผุในชั้นนี้ จะมีอาการปวดมาก และถ้ามีการติดเชื้อภายในฟันสารพิษจะถูกกักไว้จนเกิดหนอง ทำให้มีอาการปวดมาก หรือมีอาการบวมที่บริเวณเหงือกและแก้ม การรักษาฟันที่ผุที่ชั้นโพรงประสาทฟันทำได้ 2 วิธีคือ ถอนฟันออก เพื่อกำจัดแหล่งเชื้อโรค หรือ รักษารากฟัน เพื่อเก็บฟันไว้

ขั้นตอนการรักษารากฟัน

 

  1. ทันตแพทย์จะเปิดโพรงประสาทฟัน โดยใช้เครื่องมือเจาะรูเข้าไปเพื่อระบายหนองออก อาการปวดจะทุเลา
  2. แพทย์จะใช้เข็มอันเล็กๆ สอดเข้าไปในโพรงประสาทฟันเพื่อเกี่ยวเอาเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันที่อักเสบและติดเชื้อออก แล้วทำความสะอาดด้วยน้ำยา สำหรับฟันหน้าที่มีรากเพียงรากเดียวจะใช้เวลาไม่นาน แต่สำหรับฟันหลังซึ่งมีหลายราก แพทย์ต้องใช้เวลาทำความสะอาดเพิ่มขึ้น จึงอาจต้องนัดมาทำหลายครั้ง
  3. หลังจากทำความสะอาดรากฟันจนสะอาดปราศจากเชื้อแล้ว และคนไข้ไม่มีอาการปวดและไม่มีหนองในรากฟันแล้ว ทันตแพทย์จะทำการอุดภายในรากฟันให้เต็ม เพื่อให้ไม่มีเนื้อที่ว่างสำหรับเป็นที่อยู่ของเชื้อโรค

     เมื่ออุดภายในรากฟันจนเต็มแล้ว แพทย์จะบูรณะตัวฟันด้านบน ในกรณีที่รอยผุเดิมไม่ใหญ่มากจะใช้วิธีการอุด แต่ถ้ารอยผุมีขนาดใหญ่ เหลือเนื้อฟันน้อย หรือฟันที่ผุเป็นฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม หรือเป็นฟันกรามที่ต้องใช้เคี้ยวอาหาร แพทย์จะแนะนำให้ใส่เดือยและทำครอบฟัน ซึ่งจะแข็งแรงกว่าการอุดธรรมดาและยังช่วยป้องกันการแตกหักของฟันได้ด้วย