การอุดฟัน

การอุดฟัน

        เป็นวิธีบูรณะฟันที่มีการสูญเสียเนื้อฟันจากสาเหตุต่างๆ อาทิ ฟันผุ ฟันสึกจากการแปรงฟัน ฟันแตกหักจากอุบัติเหตุ แต่การสูญเสียต้องไม่รุนแรงจนถึงโพรงประสาทฟันซึ่งอยู่ที่กลางตัวฟันและรากฟัน ในการรักษาด้วยวิธีอุดฟันนี้ ทันตแพทย์จะกำจัดเนื้อเยื่อที่ผุออก หรือแต่งรูปร่างให้เหมาะสมกับการอุด แล้วจึงอุดทดแทนเนื้อฟันส่วนนั้นด้วยวัสดุอุดฟัน ส่วนการอุดฟันอีกประเภทหนึ่งซึ่งถือเป็นการบูรณะฟันเพื่อความงาม ใช้ในกรณีที่ไม่ได้มีการสูญเสียเนื้อฟัน แต่คนไข้ต้องการอุดฟันเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ เช่น ฟันหน้าที่มีช่องห่างหรือที่มีการเปลี่ยนแปลงสีของฟัน ฟันที่มีรูปร่างเล็กกว่าปกติ

วัสดุอุดอมัลกัม (Amalgam Filling)

       อมัลกัมเป็นโลหะผสมระหว่างปรอทผสมกับเงินและทองแดง เป็นที่นิยมในการอุดฟันมายาวนาน จุดเด่นของวัสดุอมัลกัมคือความแข็งแรง เนื่องด้วยมีโลหะเป็นส่วนผสม เหมาะสำหรับอุดฟันกรามที่ต้องรองรับแรงบดเคี้ยว แต่อาจไม่สวยงามนักเพราะเมื่ออ้าปากจะเห็นวัสดุอุดซึ่งมีสีเทามันแบบโลหะและสีจะค่อยๆ คล้ำขึ้นเมื่อใช้งานไปนานๆ วัสดุอมัลกัมนั้นไม่สามารถยึดติดกับฟันได้เอง ทันตแพทย์จึงต้องกรอฟันเพื่อให้วัสดุยึดติดได้ ซึ่งวิธีนี้จะสูญเสียเนื้อฟันค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับการอุดด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน และตัวอมัลกัมเองก็ไม่ปล่อยฟลูออไรด์ ส่วนข้อดีข้ออื่นๆ ของวัสดุชนิดนี้คือมีราคาถูกและมีเทคนิคการอุดที่ไม่ยุ่งยากเหมือนวัสดุสีเหมือนฟัน การอุดฟันด้วยอมัลกัมมีข้อห้ามคือห้ามใช้ฟันที่อุดเคี้ยวอาหารหลังจากอุดมาใหม่ๆ เพราะต้องรอให้วัสดุแข็งตัว ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงหลังการอุด

วัสดุสีเหมือนฟัน (Composite Resin Filling)

      วัสดุอุดฟันจำพวกเรซิ่น หรือคอมโพสิตเรซิ่นจะมีสีเหมือนฟันธรรมชาติ มีให้เลือกหลายเฉดสี และใช้บูรณะได้ทั้งฟันหน้าและฟันหลัง จึงเป็นที่นิยมมากสำหรับคนไข้ที่ต้องการความสวยงาม หลังจากกรอฟันส่วนที่ผุออกแล้ว ทันตแพทย์จะใช้คอมโพสิตเรซิ่นอุดฟันโดยตรง วัสดุชนิดนี้จะแข็งตัวได้ด้วยการฉายแสงจากเครื่องฉายแสงทางทันตกรรม โดยต้องอาศัยสารยึดติด (Bonding) ช่วยให้ยึดติดกับฟัน การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันนี้จะช่วยลดปริมาณการกรอเนื้อฟันได้มากกว่าวัสดุอมัลกัม แต่อายุการใช้งานของคอมโพสิตเรซินอาจไม่นานเท่าวัสดุอมัลกัม และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า

      การอุดฟันด้วยคอมโพสิต เรซิน ถือเป็นทันตกรรมเพื่อความงามอย่างหนึ่ง ซึ่งการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันเพื่อบูรณะฟันแบบนี้จะทำในกรณีที่ไม่ได้มีการสูญเสียเนื้อฟัน แต่ต้องการอุดฟันเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ เช่น ฟันหน้าที่มีช่องห่างหรือที่มีการเปลี่ยนแปลงสีของฟัน ฟันที่มีรูปร่างเล็กกว่าปกติ

      ศูนย์ทันตกรรมของเราเลือกใช้ 3M ESPE Filtek ในการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน เนื่องจากได้รับการยอมรับด้านนาโนเทคโนโลยี ซึ่งมีประสิทธิภาพและความแข็งแรงสูง

ขั้นตอนการอุดฟันด้วยวัสดุเรซินสีเหมือนฟัน

  1. ขั้นตรวจฟันและกรอฟัน เนื้อฟันส่วนที่ผุจะถูกกรอทิ้งเพื่อเตรียมพื้นที่ฟันที่จะอุด
  2. ขั้นตอนการอุด ทันตแพทย์จะใส่วัสดุเรซินสีเหมือนฟันสลับกับฉายแสงให้วัสดุแข็งตัวเป็นชั้นๆ หลังจากอุดเต็มพื้นที่แล้วจะทำการกรอแต่งเพื่อให้ได้รูปร่างตามที่เหมาะสม จากนั้นจะทำการขัดวัสดุให้มีความเงางามแลดูเป็นเนื้อเดียวกับฟันธรรมชาติ