เคลือบฟันเทียม

การเคลือบฟันเทียม (Veneer) สามารถคืนรอยยิ้มสวยให้คุณได้จริงหรือ?

        วีเนียร์ คือวัสดุบางๆ ที่มีสีเหมือนฟัน นำมาใช้ติดแทนเคลือบฟัน ใช้แก้ปัญหาฟันเปลี่ยนสี ฟันมีสีคล้ำ ฟันที่บิ่นแค่บางส่วน ฟันขึ้นไม่ตรงแนว ฟันบิดเล็กน้อย และฟันห่าง นอกจากนี้ วีเนียร์ยังช่วยปกป้องฟันจากความเสียหายได้ด้วย

วัสดุที่ใช้ทำวีเนียร์

        วัสดุสำหรับทำวีเนียร์มี 2 ประเภท คือ คอมโพสิต เรซิน (Composite resin) และ พอร์ซเลน (Porcelain) คอมโพสิต เรซิน จะมีความบางมากกว่า ทำให้มีการกรอผิวฟันออกในขั้นเตรียมน้อยกว่า ส่วนพอร์ซเลนจะสามารถป้องกันคราบสีได้ดีกว่าและดูเป็นธรรมชาติมากกว่า การทำวีเนียร์ด้วยพอร์ซเลนนั้นต้องขึ้นชิ้นงานในห้องแล็บและทำโดยช่างทันตกรรมเท่านั้น ไม่สามารถทำที่คลินิกเลยในทันทีเหมือนวีเนียร์จากเรซิน และพอร์ซเลนก็มีความคงทนมากกว่า รวมถึงค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าแบบเรซินด้วย

        วีเนียร์นั้นไม่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษนอกเหนือจากการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากทั่วไป แต่วีเนียร์นั้นมีอายุการใช้ประมาณ 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับฝีมือของแพทย์และความดูแลเอาใจใส่ของคนไข้เอง

                                                                     
ข้อดีของการทำวีเนียร์

       ในด้านความสวยงามการเคลือบฟันเทียมจะให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงฟันธรรมชาติมาก วีเนียร์ยังมีประโยชน์ในการปกป้องผิวหน้าของฟันจากความเสียหายและป้องกันการผุกร่อน และในการทำวีเนียร์นั้นไม่จำเป็นต้องกรอลดขนาดผิวฟันมากเท่าการทำครอบฟัน (Crown) บางครั้งทันตแพทย์อาจแนะนำให้ทำวีเนียร์แทนการครอบฟันได้

                                                                                                                    

ขั้นตอนการทำวีเนียร์

       การทำวีเนียร์สามารถทำเสร็จได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ ขั้นแรกจะเป็นการตรวจสอบและวางแผน โดยทำการตรวจสุขภาพช่องปาก เลือกวัสดุที่จะใช้ทำวีเนียร์ เทียบสีฟัน ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นเรื่องของการทำวีเนียร์อย่างแท้จริง ซึ่งยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นตอน คือขั้นเตรียมงานและขั้นตอนการติดชิ้นงาน

       ขั้นแรก ผิวหน้าฟันบางส่วนในปริมาณที่ใกล้เคียงกับความหนาของวัสดุที่จะนำมาทำเคลือบฟันจะถูกกรอออกไป เพื่อให้วีเนียร์สามารถติดได้แนบสนิทในภายหลัง ซึ่งขั้นตอนนี้อาจต้องใช้ยาชา จากนั้นแพทย์จะทำพิมพ์ปาก เป็นการเตรียมแบบจำลองฟันเพื่อส่งไปให้ห้องแล็บขึ้นชิ้นงาน และแพทย์จะนัดคนไข้กลับมาติดชิ้นงานในอีก 2-3 วันถัดไป โดยจะติดแบบชั่วคราวก่อนเพื่อทดสอบความพอดีของสัดส่วนและสี เมื่อแน่ใจว่าคนไข้พอใจและไม่ต้องการแก้ไขปรับปรุงใดๆ แล้ว แพทย์จึงจะติดชิ้นงานกับฟันอย่างถาวรด้วยวัสดุยึดติดชนิดพิเศษ