ทันตกรรมรากเทียม

ทันตกรรมรากเทียม (Implant)

       เป็นวิธีการปลูกรากฟันเทียมทดแทนรากฟันจริงเพื่อให้สามารถมีฟันเสมือนฟันจริงได้อีกครั้ง ทันตแพทย์จะฝังรากฟันเทียมไทเทเนียมลงบนกระดูกรองรับฟัน เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับฟันที่จะสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งอาจเป็นสะพานฟันหรือฟันปลอม นอกจากจะช่วยสร้างบุคลิกภาพ และเพิ่มความมั่นใจทั้งในด้านการออกเสียงและการพูดแล้ว การทำรากเทียมยังช่วยให้คนไข้มีสุขอนามัยช่องปากดีขึ้นและช่วยรักษาเนื้อเยื่อเหงือกได้ คนไข้จะกลับมาบดเคี้ยวอาหารได้ดีดังเดิม และหมดกังวลกับปัญหาการเคลื่อนตัวและการหลุดของฟันปลอม

       สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้ารับการรักษาด้วยทันตกรรมรากเทียมนั้นจะต้องไม่มีปัญหาหรือจุดบกพร่องทางสุขภาพปากอันเนื่องมาจากโรค การทำศัลยกรรมหรือเคยได้รับบาดเจ็บทางปากและฟันมาก่อน หรือเป็นผู้พิการ ผู้ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถควบคุมได้ หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยทางจิต

การปลูกรากฟันเทียมลงในกระดูก (Endosteal) 

       เป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่วไป โดยจะปลูกรากฟันเทียมลงในกระดูกขากรรไกร ซึ่งสามารถทำการรักษาร่วมกับการทำสะพานฟันและการทำฟันปลอมได้

 

การปลูกรากฟันเทียมลงบนกระดูก (Subperiousteal)

        เป็นการปลูกรากฟันเทียมที่บริเวณด้านบนสุดของกระดูกขากรรไกร โดยส่วนที่เป็นรากจะโผล่ออกมา และมีเหงือกทำหน้าที่ยึดรากไว้ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถใส่ฟันปลอมแบบทั่วไปได้หรือผู้ที่มีฟันขนาดเล็ก 


ขั้นตอนการทำรากเทียม

        ขั้นตอนการรักษาด้วยทันตกรรมรากเทียมจะประกอบด้วยการผ่าตัดและการวางฟัน ซึ่งต้องทำโดยทันตแพทย์เฉพาะทางด้านการทำรากเทียม (Prosthetics) หรือทันตแพทย์ทั่วไปที่ได้รับการฝึกฝนด้านการทำรากเทียมมาอย่างดีแล้วเท่านั้น คนไข้ที่ไม่มีฟันธรรมชาติอยู่ในบริเวณที่จะทำรากเทียมอยู่แล้วนั้นก็จะไม่ต้องมีการเตรียมการพิเศษ แต่ในกรณีที่ต้องถอนฟันธรรมชาติออกก่อน จะต้องให้เวลากระดูกขากรรไกรพักฟื้นระยะหนึ่งก่อนจะทำการปลูกรากเทียม

  1. การวางรากเทียม แพทย์จะต้องผ่าตัดใส่รากเทียมที่ทำมาจากเหล็กไทเทเนียมที่มีขนาดพอดีกับบริเวณที่ต้องการปลูกรากเทียมบนขากรรไกร ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยการผ่าตัดที่แม่นยำ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง และใช้เพียงการฉีดยาชาเท่านั้น โดยปกติแล้วจะไม่มีผลข้างเคียงมากนัก ทั้งในระหว่างผ่าตัดและหลังการผ่าตัด
  2. ระยะเวลาพักฟื้น ขั้นตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่รอให้ขากรรไกรจับยึดและยอมรับรากเทียม ใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพของขากรรไกร
  3. การใส่เดือยรองรับครอบฟัน เมื่อกระดูกขากรรไกรกับรากฟันยึดติดกันอย่างมั่นคงแล้ว แพทย์จะทำการผ่าตัดครั้งที่ 2 โดยจะติดตัวเสริมหรือเดือยรองรับครอบฟัน (Abutments) เข้ากับรากเทียม ตัวเดือยนี้จะผ่านทะลุเหงือกเข้าไปเพื่อให้สะพานฟันหรือฟันปลอมยึดเกาะ หลังจากขั้นตอนนี้อีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะสามารถใส่ฟันใหม่ได้
  4. การใส่ครอบฟัน ขั้นตอนนี้จะมีการพิมพ์ปากและหารือกันระหว่างแพทย์และคนไข้เกี่ยวกับรูปร่างของสะพานฟันและฟันใหม่